โสฬสญาณ

 
โสฬสญาณ คือลำดับญาณที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงแก่ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาล้วน หรือที่เรียกว่า การเจริญสุทธวิปัสสนา ได้แก่ ผู้ที่ดำเนินไปสู่มรรค ผล และนิพพาน ด้วยวิปัสสนาญาณล้วนๆ วิปัสสนาญาณ คือ ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับ ตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด มี ๑๖ ประการ ดังต่อไปนี้


๑) นามรูปปริจเฉทญาณ คือ ญาณกำหนดรู้รูปและนาม หรือ ญาณกำหนดรูป-นามให้แยกออกจากกันไป สามารถกำหนดรู้ได้ว่ามีเพียงรูป-นามโดยปราศจากสมมุติบัญญัติที่เป็นบุคคล เราของเรา บุรุษ สตรี การกำหนดรูป-นามนั้น เป็นการรู้เห็นลักษณะพิเศษ คือ สภาวะลักษณะของ รูป-นามอย่างแท้จริง กล่าวคือ รูปเป็นสภาวะแปรปรวนและไม่รู้อารมณ์ นามเป็นสภาวะน้อมไปสู่อารมณ์ คือ รู้อารมณ์ นอกจากนี้ยังเป็นการรู้เห็นลักษณะพิเศษของรูปและนามแต่ละอย่าง เช่น
- ความแข็ง/อ่อน เป็นลักษณะพิเศษของธาตุดิน
- การกระทบ เป็นลักษณะพิเศษของผัสสะ
- การเสวย เป็นลักษณะพิเศษของเวทนา- การจำได้หมายรู้ เป็นลักษณะพิเศษของสัญญา
- การรู้อารมณ์ เป็นลักษณะพิเศษของวิญญาณ
การเห็นรูป-นามหรือขันธ์ ๕ ปัจจุบันนี้ ไม่ใช่การเห็นด้วยตาเนื้อ แต่เป็นการเห็นด้วยตา ญาณ (วิปัสสนาญาณ) ว่ามีแต่ขันธ์ ๕ หรือรูป-นามตามที่เห็นประจักษ์อยู่นี้เท่านั้น ความเห็นเช่นนี้ เรียกว่า ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งความเห็น เพราะขจัดความเห็นผิดว่ามีตัวตน (อัตตทิฏฐิ) นับเป็นวิปัสสนาสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น
นามรูปปริจเฉทญาณ แปลว่า ปัญญารู้ว่า อะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม รูป-นามแท้จริงเป็นอย่างไร และสามารถแยกรูปแยกนามออกจากกันได้ ไม่ปะปนอย่างชัดเจน คือ ปัญญารู้แจ้งรูป-นาม


๒) ปัจจยปริคคหญาณ คือ ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของรูปนามที่เกิดภายในตน โดยเข้าใจว่า มีเพียงรูป-นามที่เป็นผลเกิดจากรูป-นามที่เป็นเหตุ หมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรมที่กำหนดรู้สภาวธรรมปัจจุบันแล้วรู้เห็นสภาวะแท้จริงของรูป-นาม ย่อมเข้าใจเหตุเกิดของรูป-นามได้ตามสมควร ย่อมรู้เห็นว่ารูป-นามในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เกิดจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกัน โดยปราศจากอำนาจเหนือธรรมชาติที่ดลบันดาลให้เกิดขึ้น ความรู้เช่นว่านี้ เรียกว่า กังขาวิตรณวิสุทธิ คือความบริสุทธิ์ด้วยข้ามพ้นความสงสัยปัจจยปริคคหญาณ แปลว่ามีปัญญากำหนดรู้ทั้งเหตุและผล เหตุคือสิ่งที่เกิดก่อน ผลค่อยเกิดทีหลัง เช่นรูปเกิดก่อน นามเกิดทีหลัง นามเกิดก่อน รูปเกิดทีหลัง เป็นต้น บางที่เรียกว่า ธัมมัฏฐิติญาณบ้าง ยถาภูญาณบ้าง สัมมาทัสสนะบ้าง และผู้ที่ประกอบด้วยญาณชั้นนี้ พระอรรถกถาจารย์เรียกว่า จูฬโสดาบัน คือพระโสดาบันน้อย เป็นผู้มีคติในทางก้าวหน้าที่แน่นอนในพระพุทธศานา 

 

๓) สัมมสนญาณ คือ ญาณที่พิจารณารู้ว่าขันธ์ ๕ หรือรูป-นามนี้ ล้วนตกอยู่ในสามัญลักษณะที่มีอยู่ในสรรพสัตว์โดยทั่วถึงกัน ได้แก่ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ผู้ที่รู้เห็นความไม่เที่ยง เป็นต้น


๔) อุทยัพพยญาณ คือ ปัญญาที่รู้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของรูป-นามปัจจุบัน เป็นญาณที่กำหนดรู้เห็นไตรลักษณ์ชัดเจนโดยสันตติขาด คือ เห็นรูป–นามดับไปในทันทีที่ดับ และเห็นรูป-นามเกิดขึ้นในขณะที่เกิด ลักษณะของญาณนี้ อุทยัพพยญาณนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ระดับ คือ

(๑) ตรุณอุทยัพพยญาณ คือ วิปัสสนาระดับต้น มีกำลังญาณอ่อนจะปรากฏวิปัสสนูปกิเลส คือ สิ่งที่ทำให้วิปัสสนาหม่นหมอง ๑๐ ประการ คือ ๑. โอภาส (แสงสว่าง) ๒. ปีติ(ความอิ่มใจ)๓.ญาณ (ความรู้) ๔. ปัสสัทธิ (ความสงบกายและใจ) ๕. สุข (ความสุข) ๖. อธิโมกข์ (ศรัทธาที่แรงกล้า)๗. ปัคคัยหะ (ความเพียรอย่างแรงกล้า) ๘. อุปัฏฐาน (เกิดสติแก่กล้า) ๙. อุเบกขา (ความวางเฉย) ๑๐.
นิกันติ (ความยินดีติดใจ)
(๒) พลวอุทยัพพยญาณ คือ วิปัสสนาระดับแก่กล้า มีกำลังญาณสามารถละความสาคัญผิดในวิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๑๐ ประการได้ คือรู้เห็นว่า รูป-นามเกิดขึ้นแล้วดับไปทันทีอย่างรวดเร็ว การรู้เห็นความเกิดดับอย่างรวดเร็วทุก ๆ ขณะที่กำหนดรู้นี้จึงเป็นอุทยัพพยญาณที่พ้นไปจากวิปัสสนูปกิเลส
 

๕) ภังคญาณ คือ ปัญญาในการพิจารณาอารมณ์แล้วเห็นความดับ (ญาณที่พิจารณาเห็นความดับ) หรือ ปัญญาที่กำหนดเห็นความดับไปของรูป-นามมากมาย หรือ ปัญญารู้เห็นความดับไป รู้เห็นเฉพาะความดับไปของรูป-นามเท่านั้น ญาณที่พิจารณาความดับ ปัญญาที่ประจักษ์แจ้งความไม่มีสาระของการเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมที่ปรากฏ

๖) ภยญาณ คือ ปัญญาที่พิจารณารู้เห็นว่ารูป-นามเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเป็นสิ่งไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่เป็นไปในอำนาจของใคร มีแต่แตกสลายไปอย่างเดียว 

 

๗) อาทีนวญาณ คือ ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นรูป-นามมีแต่โทษไม่มีคุณ เห็นขันธ์ ๕ หรือรูป-นามนั้นว่าเป็นสิ่งที่มีแต่ทุกข์โทษโดยถ่ายเดียว ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่หลบหลีก ไม่มีส่วนใดที่น่าปรารถนาเลย ขันธ์ ๕ เป็นเหมือนฝี เหมือนโรค ผู้ที่อาศัยขันธ์ ๕ อยู่จะรู้สึกเหมือนอยู่ในป่าอันเต็มไปด้วยสัตว์ร้ายล้วนแต่น่ากลัวอย่างยิ่ง ไม่ว่ากำหนดครั้งใดก็พบแต่ของไม่ดีเป็นทุกข์โทษทั้งสิ้น ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นว่า รูป-นาม นี้เป็นโทษ เหมือนผู้ที่เห็นไฟกำลังไหม้เรือนตนอยู่ จึงคิดหนีออกเรือนนั้น ในระหว่างที่อิงอาศัยอารมณ์นั้น จิตไม่ได้มีความสุขจริง เพราะภพชาติทั้งปวงล้วนแต่มีทุกข์โทษในตัวเอง 

 

๘) นิพพิทาญาณ คือ ญาณที่พิจารณาเห็นสังขารว่ามีโทษจนเกิดความเบื่อหน่ายหรือปัญญารู้เห็นรูป-นามว่าน่าเบื่อหน่าย ในขณะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมย่อมเข้าใจว่ารูป-นามที่กำหนดรู้อยู่นั้น น่าเบื่อหน่ายเพราะรู้เห็นโทษด้วยอาทีนวญาณนั่นเอง แม้จะพิจารณาถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็รู้สึกว่าน่าเบื่อหน่าย แม้แต่ความฟุ้งซ่านก็ยังน่าเบื่อหน่าย ญาณที่ ๖-๗-๘ นี้ มีลักษณะเห็นโทษภัยของรูปและนามเหมือนกัน ต่างกันโดยความเป็นญาณระดับอ่อน ระดับปานกลาง และระดับแก่กล้าตามลำดับ สิ่งสำคัญต้องเป็นความเบื่อหน่ายโดยการกาหนดรู้รูป-นามจริง ๆ ปัญญาที่กำหนดรู้จนเห็นว่า เกิดความเบื่อหน่ายในรูป-นาม เบื่อหน่ายในปัญจขันธ์ จิตคลายเพลิดเพลินพึงพอใจในภพชาติต่าง ๆ เมื่อว่าตาม


๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ ปัญญาที่ปรารถนาจะพ้นไป หรือ ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อเบื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น หรือ ญาณที่ต้องการพ้นไปจากสังขาร ที่เกิดความรู้สึกปรารถนาจะพ้นอยากจะหนีไปให้พ้นจากขันธ์ ๕ หรือรูป-นามที่น่าเบื่อหน่าย เหมือนปลาติดอยู่ในอวน กบที่อยู่ในปากงู หรือ ไก่ป่าที่ถูกขังไว้ในกรง เป็นต้น


๑๐) ปฏิสังขาญาณ คือ ญาณที่พิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก หรือ ปัญญากำหนดรู้โดยหวนกลับไปพิจารณาขันธ์ ๕ โดยไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาขึ้นมา โดยลำดับ ก็จะเห็นไตรลักษณ์ของขันธ์ ๕ แจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งขึ้น พร้อมที่จะหนีไปเสียให้พ้นจากขันธ์ ๕ เมื่อบรรลุถึงญาณนี้แล้วย่อมมีใจอาจหาญ เกิดความขะมักเขม้นในการปฏิบัติ ปัญญาที่ไตร่ตรองมองหาอุบายให้พ้นจากรูป-นามซ้ำอีก เพื่อสละสังขารโดยยกเข้าสู่พระไตรลักษณ์ด้วยการรู้เห็นลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ประจักษ์เห็นพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน


๑๑) สังขารุเปกขาญาณ คือ จิตวางเฉยในรูป-นาม หรือ ปัญญาวางเฉยในสังขาร โดยไม่ต้องจดจ่อให้รู้เห็นความดับหรือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนของรูป-นาม แต่สามารถกำหนดรู้ได้เองตามธรรมชาติโดยไม่รู้สึกว่ามีตัวตนของผู้กาหนดรู้ และสามารถรู้เห็นความดับหรือความไม่เที่ยง เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งได้ชัดเจนทุกขณะ เป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายในสังขารทั้งหลาย จิตที่มีความปรารถนาจะพ้นไปจากความเกิด ความเป็นไป นิมิต กรรม ปฏิสนธิ คติความบังเกิด ความอุบัติ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เศร้าโศก รำพัน คับแค้นใจ พิจารณาและดำรงมั่นอยู่ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ เป็นภัย เป็นอามิส เป็นสังขาร และเพ่งเฉยสังขารเหล่านั้น จึงชื่อว่าสังขารุเปกขาญาณ 

 

๑๒) อนุโลมญาณ คือ ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่ การหยั่งรู้อริยสัจทั้ง ๔ เป็นญาณที่มีกิจเห็นพ้องต้องกันกับวิปัสสนาญาณเบื้องต้น ตั้งแต่อุทยัพพยญาณเป็นต้นมา จนถึง สังขารุเปกขาญาณ รวมเป็น ๘ ญาณด้วยกัน และเป็นญาณที่มีกิจอนุโลมตามโพธิปักขิยธรรม ซึ่งเป็นธรรมที่ทาให้บรรลุอริยมรรค อริยผลโดยไม่ขัดกัน
สาระสำคัญของญาณนี้คือ ผู้ปฏิบัติจะพิจารณารูป-นาม เป็นไตรลักษณ์ ตั้งแต่อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณ ๔) ถึง สังขารุเปกขาญาณ (ญาณ ๑๑) เหมือนพระมหากษัตริย์ทรงสดับการวินิจฉัยคดีตุลาการ ๘ ท่าน แล้ว มีพระราชวินิจฉัยอนุโลมตามคาวินิฉัยของตุลาการทั้ง ๘ ท่านนั้น


๑๓) โคตรภูญาณ คือ ญาณหยั่งรู้ที่เป็นรอยต่อระหว่างการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชนเข้าสู่ภาวะอริยบุคคล ตัดกระแสเชื้อของปุถุชน รับเอาความดับสังขารคือพระนิพพานเป็นอารมณ์ โดยสละทิ้งสังขารที่กำหนดรู้อยู่ เป็นญาณที่ข้ามโคตรปุถุชน ก้าวขึ้นสู่แดนอริยชน ตัดโลกิยารมณ์ทั้งหมด ตัดโคตรปุถุชนให้หมดสิ้นไม่เหลือ เหมือนการตัดต้นไม้ให้ขาดทั้งรากฝอยและรากแก้ว โคตรภูญาณนี้นับเข้าในญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะรับเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์


๑๔) มรรคญาณ คือ ญาณในอริยมรรค หรือปัญญาสูงสุดที่กำจัดกิเลสเป็นเหตุให้บรรลุความเป็นพระอริยบุคคลชั้นหนึ่ง ๆ เป็นปัญญาที่กาหนดจนรู้เห็นพระนิพพาน และตัดขาดจากกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานคือการปหานอย่างเด็ดขาด มรรคญาณนี้เสวยนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นฝ่ายโลกุตตระ เห็นอริยสัจ ๔ อย่างแจ้งชัด เป็นวิสัยแห่งภาวนามยปัญญา


๑๕) ผลญาณ คือ ญาณในอริยผล เป็นญาณที่เกิดขึ้นในลาดับต่อจากมรรคญาณและเป็นผลของมรรคญาณนั้น ผู้ที่บรรลุญาณนี้แล้วได้ชื่อว่าเป็นพระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ มีพระโสดาบัน เป็นต้น เป็นปัญญาที่กำหนดจนรู้เห็นพระนิพพานโดยเสวยผลแห่งสันติสุข ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ปรากฏตัวขึ้น เป็นความสว่าง บริสุทธิ์ จิตหมดความปรุงแต่ง หมดการแสวงหา หมดกิริยาของจิต แต่ไม่ใช่หมดความรู้สึกอันเป็นการขาดสติสิ้นเชิง


๑๖) ปัจจเวกขณญาณ คือ ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และพระนิพพาน รวมเป็น ๑๖ ญาณด้วยกัน ทั้งญาณที่เป็นโลกิยะ และโลกุตตระ แต่พระอรหันต์ไม่มีการสำรวจทบทวนดูกิเลสที่เหลืออยู่ เพราะละกิเลสได้หมดแล้ว

วิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ขั้นนี้ เป็นผลของการเจริญวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ด้วยการมีสติระลึกรู้เท่าทันในสภาวธรรมปัจจุบัน มีสติคอยพิจารณาอยู่ในกาย เวทนา จิต และ สภาวธรรม กำหนดจดจ่ออย่างต่อเนื่องแล้ว ก็จะเกิดปัญญาญาณ สามารถหยั่งเห็นรูปนามโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน สามารถเข้าถึงมรรค ผล นิพพานได้ เข้าถึงความเป็นผู้หมดจด ความเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดจดจากอาสวะกิเลส และมลทินเครื่องเศร้าหมองทางใจทั้งหลายทั้งปวง


ความคิดเห็น