โพชฌงค์ ๗

โพชฌงค์ ๗ คือ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการรู้แจ้งอริยสัจทั้ง ๔ มี ๗ ประการ


(๑) สติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้มีสติและปัญญาอันยิ่ง เป็นผู้ระลึกได้ ระลึกถึงกิจที่ทำไว้นาน หรือวาจาที่กล่าวไว้นานได้ เป็นการรับรู้สภาวธรรมในปัจจุบันขณะ โดยปราศจากตัวตน เรา ของเรา บุรุษ หรือสตรี ไม่มีสมมุติบัญญัติที่ขึ้นอยู่กับบุคคล กาลเวลา หรือสถานที่ มีเพียงสภาวธรรมทางกายและสภาวธรรมทางจิตเกิดตามเหตุปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปตามธรรมชาติ


(๒) ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้มีสติอยู่อย่างนั้น วิจัย เลือกสรร ทบทวน สอบสวนธรรมนั้นด้วยปัญญา


(๓) วิริยสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้มีความเพียร ไม่ย่อท้อ วิจัย เลือกสรรทบทวน สอบสวนธรรมนั้นด้วยปัญญา ปรารภความเพียรแล้ว ความเพียรดังกล่าวนี้ เป็นความเพียรอย่างแรงกล้าที่จดจ่อสภาวธรรมปัจจุบันด้วยสัมมัปปธาน ๔


(๔) ปีติสัมโพชฌงค์ ได้แก่ ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้ปรารภความเพียร แล้วเกิดปีติที่ปราศจากอามิส เมื่อปีติเกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นบาทฐานแก่ปัสสัทธิ  ปีติมี ๕ ประการ คือ
๑. ขุททกาปีติ ปีติเล็กน้อย ความรู้สึกอิ่มใจโดยอาจมีอาการขนลุกทั่วร่างกายหรือน้ำตาไหล
๒. ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ ความอิ่มใจที่มีลักษณะเหมือนสายฟ้าแลบปรากฏแม้ในขณะหลับตา
๓. โอกกันติกาปีติ ปีติซึมซับ ความอิ่มใจที่ปรากฏคล้ายกับคลื่นหรือเหมือนกระแสไฟฟ้าแล่นอยู่ในร่างกาย
๔. อุพเพงคาปีติ ปีติโลดโผน เป็นความอิ่มใจที่ทาให้ร่างกายสามารถลอยไปในอากาศได้โดยที่ตนยังไม่ได้บรรลุอภิญญา
๕. ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ได้แก่ ความอิ่มใจที่ปรากฏความเย็นในใจ เป็นความเย็นห่อหุ้มใจของตน ในบางครั้งกระจายซาบซ่านจากทรวงอกแล่นไปทั่วร่างกาย บางขณะมีความเย็นเกิดขึ้นที่แขน หลัง หรือร่างกายบางส่วน
ในปีติทั้ง ๕ เหล่านี้ ปีติประเภทหลังมีกำลังกว่าปีติประเภทที่เกิดก่อน กล่าวคือ ขณิกา ปีติมีกำลังกว่าขุททกาปีติ, โอกกันติกาปีติมีกำลังกว่าขณิกาปีติ, อุพเพงคาปีติมีกำลังกว่าโอกกันติกาปีติ, และผรณาปีติมีกำลังกว่าอุพเพงคาปีติ
 

(๕) ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นผู้มีกายและจิตเอิบอิ่ม มีความสงบระงับปัสสัทธินี้มีมีสภาพสงบจากกิเลส ไม่มีกิเลสเกิดขึ้นรบกวนจิตให้เศร้าหมอง ในบางขณะผู้ปฏิบัติอาจมีความรู้สึกว่าอยู่คนเดียวในโลกด้วยความเงียบสงบไม่กระวนกระวาย


(๖) สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ ผู้ปฏิบัติธรรมผู้มีกายสงบ มีจิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว สมาธิที่จัดเป็นโพชฌงค์ คือ ขณิกสมาธิในวิปัสสนาภาวนา เพราะสมถภาวนานั้นไม่ใช่แนวปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากกิเลส (โดยสมุจเฉท) วิปัสสนาภาวนาจึงจัดเป็นแนวปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น

 (๗) อุเปกขาสัมโพชฌงค์ คือ ผู้ปฏิบัติธรรมมีจิตตั้งมั่น เป็นผู้วางเฉย แต่ความวางเฉยนี้ ไม่ใช่อุเบกขาเวทนาที่วางเฉยไม่สุขไม่ทุกข์ แต่เป็นความวางเฉยในการกำหนดรู้สภาวธรรมปัจจุบันได้สม่ำเสมอ กล่าวคือ ไม่ต้องปรับศรัทธากับปัญญา และปรับวิริยะกับสมาธิให้สม่าเสมอกัน เพราะอินทรีย์เหล่านั้นมีสภาวะสมดุลไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันด้วยอำนาจของโพชฌงค์ทั้ง ๖ ที่ได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ต้น

โพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ เป็นองค์แห่งการรู้แจ้ง และเป็นการบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนานักปฏิบัติผู้เจริญสติที่ระลึกรู้เท่าทันสภาวธรรมปัจจุบันภายในกายกับจิตนี้ มีปัญญาหยั่งเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริง มีความเพียรในการปฏิบัติธรรม เกิดปีติความอิ่มใจ เกิดปัสสัทธิสงบกายสงบใจ มีสมาธิตั้งมั่นในสภาวธรรมปัจจุบัน และมีอุเบกขาวางเฉยโดยตามรู้สิ่งที่จิตรับรู้ได้สม่าเสมอก็จะสามารถบรรลุวิปัสสนาญาณเบื้องสูงตามสมควรแก่บารมีธรรมของตน

ความคิดเห็น