การเจริญภาวนา พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
นั่งให้สบาย เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง วางท่าสง่าผ่าเผย ยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อกายของเราสบายแล้ว ระลึกถึงที่พึ่งของเรา คือ คุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึก ที่กราบที่ไหว้สักการบูชา ให้ระลึกว่า พระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระสงฆ์อยู่ในใจ เชื่อมั่นอย่างนั้น แล้วนึกคำบริกรรมว่า "พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ พุทโธ ธัมโม สังโฆ" สามหน แล้วให้รวมเป็น "พุทโธ-พุทโธ" อย่างเดียว หลับตา งับปากเสีย ลิ้นไม่กระดุกกระดิก แล้วระลึกเอาในใจของเรา "พุทโธ" คือความรู้อยู่ตรงไหน ตาก็เพ่งดูที่รู้ว่าพุทโธ ให้กำหนดดูที่เราอยากรู้ หูก็ลงไปฟังที่รู้อยู่นั่น แล้วตั้งสติไว้ตรงนั้นดูรู้อันนั้น อย่าส่งไปทางหน้าทางหลังทางซ้ายทางขวาทางบนทางล่าง ตั้งเฉพาะท่ามกลางอันรู้อยู่ ความรู้อยู่ตรงไหนล่ะ กำหนดรู้อยู่ตรงนั้นไม่ต้องหา วางให้หมด ดูอันรู้นั้นอยู่ นี่แหละเราจึงรู้จักว่าที่พึงของเรา ดูที่จิตของเราอย่างนี้แหละ
เมื่อจิตของเราเป็นสมาธิแล้ว มันมีความอ่อน นิ่มนวลในจิตในใจ ยิ้มในใจ อิ่มอกอิ่มใจ ใจไม่วุ่นวาย ใจว่านอนสอนง่าย นั่นมันเป็นยังงั้น มีความอ่อนละมุนละไม ไม่ใช่อ่อนแอ เบายิ่งกว่าสำลี ยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด อิ่มอกอิ่มใจ เกิดปีติขึ้น อิ่มยิ่งกว่านอนอิ่มยิ่งกว่ารับประทานอาหาร มันเป็นยังงี้ จากนั้น ท่านให้น้อมมาดู ดูที่ความเกิด อะไรมันเกิดเล่า ตัวเรานี้เป็นผู้เกิด ถ้าเราเห็นตัวเราว่า เป็นทุกข์ มันก็ละเอง ทีนี้เราน้อมเข้ามาพิจารณาถึงความตาย เมื่อเห็นความตายแล้ว ยิ่งเบื่อหน่าย หมดความกำหนัดยินดีในความโลภ ความโกรธ ความหลง
ถ้ามันเห็นอย่างนี้แล้ว มันไม่ได้มีอะไรสักอย่าง ไม่เป็นแก่นเป็นสาร มันเลยละหมด นี้หละ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงว่า ให้ฟังธรรม น้อมเข้ามาพิจารณาในตัวของเรา ให้พึงรู้พึงเห็น ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น