การภาวนา พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล


 

โดยหลักที่พระอาจารย์เสาร์ได้สั่งสอนอบรมลูกศิษย์ลูกหามานั้น ยึดหลักการบริกรรมภาวนา พุทโธ และอานาปานสติ เป็นหลักปฏิบัติ

การบริกรรมภาวนา ให้จิตอยู่ ณ จุดเดียว คือ พุทโธ ซึ่งพุทโธ แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นกิริยาของจิต เมื่อจิตมาจดจ้องอยู่ที่คำว่า พุทโธ ให้พิจารณาตามองค์ฌาน 5

การนึกถึง พุทโธ เรียกว่า วิตก จิตอยู่กับ พุทโธ ไม่พรากจากไป เรียกว่า วิจาร หลังจากนี้ ปีติ และความสุขก็เกิดขึ้น เมื่อปีติและความสุขเกิดขึ้นแล้ว จิตของผู้ภาวนาย่อมดำเนินไปสู่ความสงบ เข้าไปสู่ อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ ลักษณะที่จิตเข้าสู่อัปปนาสมาธิ ภาวะจิตเป็นภาวะสงบนิ่ง สว่าง ไม่มีกิริยาแสดงอาการความรู้ ในขั้นนี้ เรียกว่า จิตอยู่ในสมถะ

เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านอาจารย์เสาร์ผู้เป็นอาจารย์สอนกรรมฐานในสายนี้ จึงได้เดินอุบายสอนให้ลูกศิษย์พิจารณากายคตาสติ เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยการพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น โดยน้อมนึกไปในลักษณะความเป็นของน่าเกลียด เป็นของโสโครก จนกระทั่งจิตมีความสงบลง รู้ยิ่งเห็นจริงตามที่ได้พิจารณา

เมื่อผู้ปฏิบัติได้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เห็นสิ่งปฏิกูล ในที่สุดได้เห็นจริงในสิ่งนั้นว่าเป็นของปฏิกูล โดยปราศจากเจตนาสัญญาแล้ว ก็เกิดนิมิตเห็นสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นของปฏิกูลน่าเกลียดโสโครกจริง ๆ โดยปราศจากสัญญาเจตนาใด ๆ ทั้งสิ้น จึงได้ชื่อว่า เป็นผู้พิจารณาเห็นอสุภกรรมฐาน

เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาอสุภกรรมฐานจนชำนิชำนาญ จนรู้เห็นจริงในอสุภกรรมฐานนั้นแล้ว ในขั้นต่อไปท่านอาจารย์เสาร์ได้แนะนำให้พิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นธาตุ 4 ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จนกระทั่งเห็นเป็น ดิน น้ำ ลม ไฟ

เมื่อจิตรู้ว่าเป็นแต่เพียงสักแต่ว่าธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ จิตก็จะเกิดความรู้ขึ้นมาว่า ตามที่พูดกันว่า สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาไม่มี มีแต่ความประชุมพร้อมของธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนั้น จิตก็ย่อมเกิดความคิดขึ้นมาได้ว่า ในตัวเรานี้ไม่มีอะไร เป็นอนัตตาทั้งสิ้น มีแต่ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ เท่านั้น

ถ้าหากภูมิจิตของผู้ปฏิบัติจะมองเห็นแต่เพียงกายทั้งหมดนี้ เป็นแต่เพียงธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ รู้แต่เพียงว่า ธาตุ 4 และภูมิจิตของท่านอยู่แค่นั้น ก็มีความรู้แค่ขั้นสมถกรรมฐาน

และในขณะเดียวกันนั้น ถ้าภูมิจิตของผู้ปฏิบัติปฏิวัติความรู้ไปสู่พระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกขัง เป็นทุกข์ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ถ้าหากมี อนิจจสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่า ไม่เที่ยง ทุกข์สัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่า เป็นทุกข์ อนัตตสัญญา ความสำคัญมั่นหมายว่า ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ภูมิจิตของผู้ปฏิบัตินั้น ก็ก้าวเข้าสู่ภูมิแห่งวิปัสสนา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาจะสิ้นใจ ถ้าหากเราไม่ได้สร้างพื้นฐานลมหายใจ ทุกขเวทนาต่าง ๆ มักจะมารบกวน จะทำให้จิตไขว่คว้าหาที่พึ่ง ถ้าว่าเราไม่นึกถึงอะไรให้มั่นคงไว้สักอย่างหนึ่ง จิตก็จะไม่มีที่ยึด ก็จะไขว่คว้าไปต่าง ๆ บางทีก็อาจจะไปเกาะสิ่งที่เป็นอบายภูมิ เพราะจิตไม่มีที่พึ่งที่ระลึก จิตนั้นก็จะไปสู่อบายภูมิ เป็นสภาพที่ไม่มีความเจริญ

นิมิตจะเกิดขึ้นได้ในจิตสมาธิ คือ เมื่อผู้ภาวนา พุทโธ พุทโธ พุทโธ เมื่อจิตมีอาการเคลิ้มๆ ลงไป จิตสงบ สว่าง กระแสจิตส่งออกไปข้างนอก แล้วก็เกิดขึ้นมาในลักษณะต่าง ๆ และอีกอย่างหนึ่ง ในการพิจารณาอสุภกรรมฐาน หรือธาตุกรรมฐาน ในขั้นต้น ผู้ปฏิบัติอาศัยการน้อมนึกพิจารณา น้อมไปสู่ความเป็นอสุภกรรมฐาน ความไม่สวย ไม่งาม น่าเกลียด โสโครก ของร่างกาย น้อมไปสู่ความเป็นธาตุ 4 ด้วยความตั้งใจก็ดี เมื่อจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว จิตอยู่ในระดับอุปจารสมาธิ ก็จะเกิดนิมิตภายนอกขึ้นมา

เมื่อผู้ปฏิบัติพิจารณาดูนิมิตภายนอกกาย นิมิตภายนอกกายจะย้อนกลับเข้ามาภายใน หมายถึงจิตนั้นน้อมเข้ามาในกาย แล้วจิตจะมารู้ถึงนิมิตในกาย ในขณะที่จิตรู้อยู่ภายในตัวนั้น จิตจะมีลักษณะตั้งอยู่ระหว่างกลางของกาย แล้วจิตจะไปรู้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งภายในกาย

ความคิดเห็น